; โรคปอดบวม (Pneumonai) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคปอดบวม (Pneumonai)


       
       โรคปอดบวม เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเฉียบพลันอย่างรุนแรงของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุถุงลมเกิดการอักเสบ บวม และมีน้ำคัดหลั่งมากจนเกิดอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน และระบบหายใจล้มเหลวและอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

สาเหตุของปอดบวม
มีสาเหตุมากมาย แต่แบ่งสาเหตุได้ดังนี้

1. แบคทีเรีย (Bacteria)
2. ไวรัส (Viruses)
3. ไมโครพลาสมา (Mycoplasma)
4. เชื้อชนิดอื่น เช่น เชื้อรา
5. สารเคมี

       เชื้อที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จาม จากนี้ยังเกิดจากการดมสารเคมี เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจน ไดออกไซด์ หรือการสำลักน้ำลายเศษอาหารและน้ำย่อย เหตุชักนำสำคัญที่ทำให้เกิดปอดบวม ปกติเชื้อโรคอยู่ในคอ เมื่อร่างกายมีภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะเกิดโรคภาวะต่างๆได้แก่

       1. ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการเกิดอักเสบติดเชื้อลดลง เช่นอายุมาก ขาดอาหาร เบาหวาน ได้รับยาภูมิคุ้มกัน
       2. การอักเสบติดเชื้อไวรัสของระบบการหายใจ
       3. การอุดกั้น และการอักเสบเรื้อรังในหลอดลม
       4. การสำลักน้ำลาย เศษอาหาร หรือสิ่งติดเชื้อในปอด

 

การติดต่อ

       เชื้อโรคปอดบวมสามารถแพร่และติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ จากการสูดดมเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป รวมถึงจากการไอ จามรดกันของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้อยู่แล้ว รวมถึงสาเหตุจากผู้ป่วยเองที่เกิดการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียในจมูกและคอเข้าไปในปอด ซึ่งมักเกิดกับเด็กที่อ่อนแอ

อาการของโรคปอดบวม

       1. ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูกนำมาก่อน
       2. บางรายอาจจะเริ่มด้วยไข้สูง หนาวสั่น
       3. หายใจหอบเหนื่อย เสียงหายใจผิดปกติ
       4. อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกตำแหน่งที่เจ็บมักตรงกับบริเวณที่อักเสบ
       5. อาการไอ ในระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาจะมีจำนวนเสมหะเพิ่มมากขึ้น เสมหะเหนียว



การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรค

       1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
       2. ไม่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยและไม่ใช้สิ่งของต่างๆร่วมกับผู้ป่วย
       3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น หรือในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
       4. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนกินอาหาร หลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรกหรือ สัมผัสสัตว์เลี้ยง ก่อนและหลังจากการสัมผัสผู้ป่วย

       เมื่อท่านสงสัยว่าจะเป็นปอดบวมโดยมีอาการต่างๆดังที่ได้กล่าวข้างต้นคือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอกและเหนื่อยง่าย ท่านควรรีบมาพบแพทย์ ภายใน 1-2 วัน เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง อย่าปล่อยให้มีอาการหนักเพราะมันสามารถคร่าชีวิตคุณได้ทุกเมื่อ